จิตใจเป็นส่วนที่สำคัญ

4071 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จิตใจเป็นส่วนที่สำคัญ

ในการแข่งขันกีฬา ได้มีคำกล่าวว่า จิตใจเป็นส่วนสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกีฬาที่ต้องอาศัยทักษะละเอียดอ่อน ใช้ความแม่นยำสูง และมีแรงกดดันต่อจิตใจมาก เช่นกีฬากอล์ฟ โดยได้มีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเล่นกอล์ฟหลายท่าน ได้กล่าวไว้ว่า กีฬากอล์ฟเป็นกีฬาที่ต้องใช้ทักษะทางร่างกายน้อยกว่าทักษะทางจิตใจอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมสภาวะจิตใจให้เหมาะสมกับการแสดงความสามารถในการเล่น

สภาวะจิตใจของคนเราจะไม่อยู่นิ่งๆ เหมือนเดิมอยู่ตลอดเวลา แต่จะเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพอารมณ์และสิ่งแวดล้อม การที่จะรักษาสภาพจิตใจให้อยู่ในสภาวะใดสภาวะหนึ่งเป็นเวลานานพอที่จะแสดงความสามารถทางการกีฬาได้ มักต้องอาศัยการฝึกฝนทักษะทางจิตใจเป็นเวลานานพอสมควร นักกีฬาและโค้ชจำนวนมากมีความเข้าใจว่า เมื่อเล่นกีฬาไปนานๆ แล้ว จิตใจจะปรับตัวให้เหมาะสมกับการเแข่งขันได้เอง ซึ่งมีความเป็นไปได้ แต่อาจจะไม่เพียงพอต่อสภาพความกดดันและความต้องการของการแข่งขันกีฬาที่ต้องใช้ทักษะละเอียดอ่อน หรือในการแข่งขันระดับสูง

ทางร่างกาย

เมื่อคนเราถูกกระตุ้น หรือพบกับสถานการณ์ที่รู้สึกว่าต้องต่อสู้ สถานการณ์คับขัน จะมีปฏิกริยาตอบสนองตามธรรมชาติ ซึ่งเรียนกันว่าปฏิกริยา “สู้หรือหนี” (Fight or Flight) การตอบสนองตามธรรมชาตินี้จะไปทำให้สมองสั่งงานให้ร่างกายเกิดความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่เผชิญหน้า โดยการเพิ่มการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่นหลั่งสารเคมีต่างๆ หรือปรับระบบประสาท ที่มีส่วนทำให้ร่างกายเพิ่มการทำงานขึ้น โดยหลักๆ แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นต่อร่างกายก็คือ

มีการเพิ่มการตึงตัวของกล้ามเนื้อ หรือทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวมากขึ้นนั่นเอง
มีการเพิ่มในระบบการไหลเวียนของโลหิต เช่นหัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น
มีการปรับการหล่อเลี้ยงของโลหิตในร่างกาย โลหิตจะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมัดใหญ่มาก ในขณะที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมัดเล็ก และปลายมือเท้าน้อยลง
ทำให้การที่จะเคลื่อนไหวอย่างราบรื่น ละเอียดอ่อน มั่นคง นิ่ง ทำได้ยากขึ้นกว่าเวลาปกติมาก เพราะกล้ามเนื้อมักจะเกร็งเกินไปที่จะเคลื่อนไหวอย่างราบรื่น ในขณะเดียวกัน โลหิตที่ไปเลี้ยงปลายมือและเท้าน้อยลง ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมัดใหญ่มากขึ้น ก็ทำให้การเคลื่อนไหวมือและกล้ามเนื้อมัดเล็กๆ ต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้อย่างแม่นยำในการตีกอล์ฟนั้นทำไม่ได้ตามปกติที่เคยเป็น เราจึงมักเห็นว่า เวลาเข้าแข่งขัน เวลาเผชิญกับสถานการณ์คับขัน หรือเวลาตั้งใจทำมากๆ นักกีฬากอล์ฟมักจะทำไม่ได้เหมือนกับเวลาเล่นสบายๆ

ทางด้านจิตใจ

เมื่อนักกีฬาได้รับการกระตุ้น จะมีความคิดต่างๆ นาๆ เกิดขึ้นในจิตใจของนักกีฬาที่จะเล่นผู้นั้น ความรู้สึกสงสัย ไม่มั่นใจ กลัวผิดพลาด ฯลฯ มักจะเกิดขึ้นกับนักกีฬาที่กำลังจะต้องแสดงความสามารถ และที่ร้ายไปกว่านั้น เกิดขึ้นกับนักกีฬาที่แสดงความสามารถอยู่ เช่นคิดในแง่ลบขณะที่กำลังจะเหวี่ยงไม้กอล์ฟเพื่อจะตีลูก ความคิดหลายๆ รูปแบบนี้ มักจะทำให้นักกีฬาเกิดความผิดพลาดในการเล่นได้โดยง่าย โดยมีสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ คือ

เกิดความคิดในแง่ลบ คิดว่าจะผิดพลาด กลัวว่าเล่นไปแล้วจะเพี้ยนจากที่ฝึกซ้อมไว้ กลัวโชคร้าย
เกิดการขาดสมาธิ ไม่สามารถรวบรวมจิตใจในการทำกิจกรรมที่กระทำอยู่ได้ดีพอ ฟุ้งซ่าน
ลืมรายละเอียดที่จะต้องทำ ลืมขั้นตอนต่างๆ ในการแสดงความสามารถ รู้สึกสับสน กังวล และอาจจะมีอาการโกรธตัวเองที่เกิดความรู้สึกนี้ขึ้นมา
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ก่อให้เกิดอุปสรรคในการแสดงความสามารถให้ได้สูงสุดตามที่นักกีฬาปราถนา โดยที่นักกีฬาไม่สามารถช่วยเหลืออะไรตัวเองได้ เนื่องจากนักกีฬาส่วนมากไม่ทราบถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันแก้ไข

นอกจากนี้ ความตั้งใจที่มากเกินไป ก็เป็นสิ่งที่ทำให้การเล่นเสียไปได้โดยง่าย เนื่องจากการตั้งใจมากเกินไป ทำให้นักกีฬาเน้นรายละเอียดบางอย่างมาก และอาจลืมรายละเอียดด้านอื่นๆ หรือบางทีนักกีฬาตั้งใจที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดที่เคยทำ แต่ไปสร้างความผิดพลาดใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น กีฬากอล์ฟเป็นกีฬาที่ต้องจัดการกับรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ มากมายในเวลาเดียวกัน เป็นการยากที่นักกีฬาจะนึกถึงรายละเอียดของการแสดงทักษะได้ครบถ้วนในช่วงเวลาสั้นๆ การฝึกจนกระทั่งสามารถแสดงทักษะได้เป็นอัตโนมัติ และการควบคุมสภาพจิตใจในขณะแสดงความสามารถจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เนื่องจากถึงแม้นักกีฬาจะฝึกฝนจนเกิดการเล่นเป็นอัตโนมัติได้แล้ว แต่หากสภาวะจิตใจเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากสถานการณ์ที่เผชิญหน้าเปลี่ยนไป การแสดงความสามารถอย่างอัตโนมัติจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย

ร่างกาย จิตใจ และความสามารถในการเล่นกอล์ฟ

การตอบสนองตามธรรมชาติทั้งทางร่างกายและจิตใจดังที่กล่าวมาแล้วนั้น อาจจะนำไปสู่กันและกันได้ เช่นหากนักกีฬาเกิดมีอาการทางร่างกาย กล้ามเนื้อตึงตัว เคลื่อนไหวไม่ปกติ ก็อาจจะนำไปสู่ความกังวลใจ และสงสัยตัวเอง ทำให้มีอาการทางจิตใจเพิ่มเข้ามาด้วย ในขณะเดียวกัน นักกีฬาบางคนที่เกิดอาการทางจิตใจ เช่นกังวล หรือคิดในแง่ลบ ก็อาจทำให้พยายามเพิ่มขึ้น ตั้งใจมากขึ้น จนร่างกายเกิดอาการเกร็ง ทำให้ความสามารถยิ่งลดลงไปมากกว่าเดิม

เมื่อมีอุปสรรคจากการตอบสนองทั้งทางร่างกายและจิตใจเกิดขึ้นแล้ว นักกีฬาและโค้ชจำนวนมากจะใช้วิธีการแก้ไขโดยการพยายามมากขึ้น เร่งปรับปรุงแก้ไขเทคนิคการตีมากกว่าเดิม ซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ไขตรงจุดที่เกิดปัญหา และยิ่งทำให้นักกีฬาเกิดความสับสนมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากยิ่งพยายามมากเท่าไร ก็ยิ่งล้มเหลวมากขึ้นเท่านั้น

วิธีการจัดการกับสภาพจิตใจในการเล่นกอล์ฟ

เราจะเห็นได้ว่า จิตใจและอารมณ์ของเราเองที่เป็นอุปสรรคต่อการแสดงความสามารถสูงสุดในการเล่นกอล์ฟ การแก้ไขปัญหาของนักกอล์ฟ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องไปจัดการกับต้นเหตุของปัญหา นั่นคือการตอบสนองตามธรรมชาติของร่างกายและจิตใจของนักกีฬาที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งเร้า เช่นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การหยุดความคิด การคิดในแง่บวก ฯลฯ

มีทักษะทางจิตวิทยาการกีฬาหลายแบบหลายประเภทมากที่นักกีฬาและผู้ฝึกสอนสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบุคลิกภาพและสิ่งแวดล้อมสถานการณ์ของนักกีฬา เช่นนักกีฬาที่มีอาการเกร็งขณะแสดงความสามารถและทำให้เล่นได้ไม่ดี ก็อาจจะต้องฝึกการผ่อนคลายโดยการหายใจ (Breathing Technique) ผ่อนคลายกล้ามเนื้อแบบต่อเนื่อง (Progressive Muscle Relaxation) และจนกระทั่งฝึกการผ่อนคลายแบบประยุกต์ (Applied Relaxation) ต่อไปในที่สุด ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสภาพการตอบสนองและสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นกับนักกีฬา

ในนักกีฬาที่มีการตอบสนองทางจิตใจทำให้ความสามารถลดลง นักกีฬาอาจจะเลือกฝึกเทคนิคการหยุดความคิด (Thought Stopping) หรือหากปัญหาเกิดขึ้นมาก ก็อาจจะต้องฝึกเทคนิคการรวบรวมสมาธิ หรือถึงขั้นการฝึกสมาธิ (Meditation) หากจำเป็น

การฝึกทักษะทางจิตวิทยา (Psychological Skill Training, PST) เป็นเรื่องที่นักกีฬาและโค้ชจำเป็นต้องศึกษาก่อนที่จะนำไปใช้ เนื่องจากการเลือกฝึกทักษะที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ถูกต้องตามขั้นตอน อาจไม่ทำให้เกิดผลที่ต้องการ และยิ่งไปกว่านั้น อาจทำให้เกิดผลที่ไม่ต้องการและไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ การที่จะเริ่มใช้ PST กับนักกีฬาได้ จึงต้องมีการวิเคราะห์ วินิจฉัย สภาพจิตใจและความต้องการในการฝึกของนักกีฬาเสียก่อน แล้วจึงเลือกเทคนิคการฝึกที่เหมาะสมให้กับนักกีฬาต่อไป ในขณะเดียวกัน PST บางชนิด ก็ออกแบบมาเพื่อพัฒนาสมรรถภาพทางจิตใจมากกว่าเพื่อปรับปรุงหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เช่นเทคนิคการจินตภาพ (Sport Imagery) การจะนำเทคนิคแต่ละอย่างไปใช้ จึงต้องศึกษาและมีความเข้าใจต่อนักกีฬา สิ่งแวดล้อม และเทคนิคต่างๆ อย่างถ่องแท้เสียก่อน จึงจะนำความสำเร็จมาสู่นักกีฬาในการแข่งขันได้

Cre. By Sport Mild Co.Ltd

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้