6285 จำนวนผู้เข้าชม |
ทำไมเล่นกอล์ฟไม่เก่งสักที?
ลองพิสูจน์ด้วยตัวคุณเองก็ได้ ลองถามตัวเองดูครับว่าในการแข่งขันกอล์ฟนั้น จิตใจมีความสำคัญกี่เปอร์เซ็นต์ เขียนตัวเลขไว้ในกระดาษ แล้วถามคำถามที่สองกับตนเองว่า แล้วเราให้เวลากับการฝึกจิตใจกี่เปอร์เซ็นต์
หากท่านเป็นนักกอล์ฟส่วนมากแล้ว ท่านจะพบว่า ตัวเลขมันไม่สัมพันธ์กัน หรือบางที มีกลับกันเสียด้วยซ้ำ นั่นหมายความว่า ถึงแม้จิตใจจะสำคัญมากมาย... แต่เราไม่ได้ฝึกมัน ไม่น่าแปลกใจว่าทำไม เราถึงไม่เก่งอย่างที่อยากจะเป็นสักที
ความสามารถทางจิตใจในการเล่นกอล์ฟนั้นคือกุญแจสู่ความสำเร็จ มันจะทำให้ท่านเล่นเต็มความสามารถอย่างสม่ำเสมอ และมีการพัฒนาการอย่างรวดเร็ว แต่หากความสามารถทางจิตใจอ่อนแล้ววงสวิงจะเปลี่ยนแปลง เกมส์ลูกสั้นจะไม่ทำงานได้ดีเหมือนปกติขณะแข่งขัน จะฝึกฝนทักษะและร่างกายอย่างหนักสักเพียงใดก็จะไม่เกิดผล ด้วยสาเหตุทางจิตใจหลายประการ
ปัญหาที่เราเห็นบ่อยๆ ก็คือเรื่องความตื่นตัว ตื่นเต้น ในการเข้าแข่งขัน หรือแม้แต่บางที ในการเล่นออกรอบที่สำคัญสักหน่อย อาการตื่นเต้นก็มักจะเข้ามามีผลกับความสามารถในการเล่นกอล์ฟของเรา ความตื่นตัวของเราจะสูงมากขึ้นจากสิ่งแวดล้อมในสนามกอล์ฟ เช่นคำพูดของคนอื่น ความสำคัญของเกมส์ บุคลิกของเราเอง ประสบการณ์ที่ผ่านมา ฯลฯ. ยิ่งเกมส์สำคัญมากเท่าไร ระดับความตื่นเต้นของเราก็สูงขึ้นเท่านั้น
จากการศึกษาวิจัยด้านจิตวิทยาการกีฬา ระดับความตื่นตัวจะมีระดับหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคน การเล่นลูกยาวจะใช้ระดับความตื่นตัวที่สูงกว่าการเล่นลูกสั้น เมื่อระดับความตื่นตัวสูงเกินกว่าที่เหมาะสม ความสามารถในการเล่นของเราก็จะตกต่ำลงทันที วงสวิงจะเปลี่ยนไป ความรู้สึกในการเล่นจะไม่ดีเหมือนเดิม จิตใจจะสับสนรู้สึกวุ่นวายโกลาหลในใจ การตัดสินใจก็มักจะผิดพลาด สมาธิในการเล่นก็จะหายไป ในที่สุดเราจะเริ่มไม่เชื่อมั่นในการเล่นและการตัดสินใจของเรา
นักกอล์ฟที่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ หลายคนก็จะเกิดอาการโกรธเคืองและก้าวร้าว ซึ่งจะยิ่งทำให้การเล่นแย่ลงไปอีก ยิ่งความตื่นตัวสูงมากขึ้นเท่าไร อาการก็จะยิ่งเด่นชัดมากขึ้นเท่านั้น สำหรับความตื่นตัวที่เกินพอดีเล็กน้อย นักกอล์ฟอาจจะอ่านกรีนในการพัตผิด หรือสโตรคพัทเสียหายนิดหน่อย แต่ก็มีผลต่อคะแนนไม่ต่างกับความตื่นตัวมากๆ อยู่ดี
นักกอล์ฟที่เจอกับเหตุการณ์นี้มักจะรู้สึกงงว่าทำไมตัวเองถึงเล่นไม่ออก และอาจจะคาดเดาไปต่างๆ นาๆ อันจะนำไปสู่การพยายามแก้ไขสิ่งต่างๆ เช่นวงสวิงหรือเทคนิคการเล่นบางอย่าง ซึ่งจะยิ่งลดความเชื่อมั่นใจตนเอง และเพิ่มจำนวนตัวเลขในใบคะแนนเข้าไปใหญ่
ที่สำคัญคือพอหลังจากแข่งเสร็จ วงสวิงมักจะกลับคืนมา ตีลูกได้เด็ดขาดเหมือนเดิม การพัทก็ดีขึ้น ทำให้เรายิ่งสับสนว่าจะฝึกฝนต่อไปอย่างไรดี และทำไมเหตุการณ์แบบนี้ถึงเกิดขึ้นบ่อยๆ
ปัญหาที่พบกันบ่อยๆ อีกเรื่องหนึ่งคือการใช้สมองที่ผิด นั่นคือนักกอล์ฟจำนวนมากตีกอล์ฟโดยสมองซีกซ้าย ซึ่งหากจะตีให้ดีแล้ว จำเป็นต้องใช้สมองซีกขวา สมองซีกซ้ายของคนเรานั้นกล่าวกันว่าเหมาะสมกับงานที่ใช้เหตุผล การคำนวน การจำและวิเคราะห์ เปรียบเป็นคนก็เป็นคนประเภทพวกนักคำนวน นักคอมพิวเตอร์ พวกเนิร์ดทั้งหลายนั่นเอง
สมองซีกซ้ายนี้ดีสำหรับการเล่นกอล์ฟในช่วงวิเคราะห์และคำนวนก่อนจะตีหรือก่อนจะพัต มันช่วยได้มากในเรื่องการกำหนดระยะทาง การคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ การเลือกเหล็ก แต่นอกจากงานเหล่านี้แล้ว สมองซีกซ้ายจะทำงานไม่ได้ความเท่าไร
ในการลงมือตีลูกจริงๆ เราต้องใช้สมองซีกขวา สมองซีกนี้มีความรู้สึกสัมผัสที่ดี มีจินตนาการที่ล้ำเลิศ เราต้องปล่อยให้สมองซีกนี้เป็นผู้เล่นกอล์ฟ แต่หากเรามีความละเอียดในการตรวจสอบ เช๊ค Alignment ตรวจสอบวงสวิงและการเคลื่อนไหวอย่างละเอียด ตรวจสอบว่าทำทุกอย่างที่ต้องทำแล้วหรือเปล่า หากเป็นอย่างนี้ สมองซีกซ้ายของเรากำลังจะทำหน้าที่เล่นกอล์ฟ ทำให้เกิดปัญหาเพราะสมองซีกซ้ายของเรานั้นตีกอล์ฟได้ห่วยที่สุดเท่าที่เราจะทำได้เสมอ
ในการเล่นกอล์ฟที่ดีนั้น เราต้องใช้สมองซีกซ้ายในช่วงเริ่มต้น ในการคำนวน และใช้สมองซีกขวาในการเล่นแต่ละลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นจะดียิ่งขึ้นเมื่อเรามีระดับความตื่นตัวที่เหมาะสมขณะนั้นด้่วย
ปัญหาอีกข้อหนึ่งที่พบมาก คือปัญหาเรื่องความคิดระหว่างช๊อต และระหว่างรอบที่เล่น ความคิดที่ผิดหรือความทรงจำบางอย่างจะนำไปสู่อารมณ์และระดับความตื่นตัวที่ไม่เหมาะสม เป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับนักกอล์ฟ
หากขณะที่กำลังเล่นเราคิดถึงคะแนน หรือคิดถึงลำดับที่เราอยู่ หรือคิดถึงสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ได้อันดับดีกว่านี้ ความคิดพวกนี้มักจะทำให้ระดับความตื่นตัวสูงเกินไป ความคิดแบบนี้มักทำให้ผลการเล่นมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของเรามากด้วย ซึ่งจะนำไปสู่ความหายนะในสนามกอล์ฟ คือนำไปสู่การไม่สามารถควบคุมตัวเราเองได้นั่นเอง
หากความคิดของเราเกิดขึ้นก่อนแข่ง เช่นกังวล กลัว หรือตื่นเต้น เราก็ได้ยกระดับความตื่นตัวของเราตั้งแต่ก่อนแข่งแล้ว เมื่อเราเข้าแข่ง ระดับความตื่นตัวของเราอาจจะพุ่งขึ้นฟ้าไปเลยก็ได้ แน่นอน ตัวเลขในใบคะแนนก็จะพุ่งขึ้นตามไปด้วย
อุปสรรคด้านจิตใจทั้งสามอย่าง คือความตื่นตัวไม่เหมาะสม การใช้สมองผิดด้าน และความคิดที่ไม่ถูกต้อง ดังที่กล่าวมานั้น เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่นักกอล์ฟต้องจัดการเอาชนะให้ได้เสียก่อนที่จะเล่นกอล์ฟได้ดีอย่างสม่ำเสมอ การฝึกวงสวิง และการฝึกฝนเกมส์ลูกสั้นที่ทำอยู่อย่างมากนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่ว่าหากไม่มีการฝึกความสามารถทางจิตใจให้ดีแล้ว วงสวิงจะไม่ดีเหมือนที่ฝึกไว้ ลูกสั้นจะไม่เฉียบคมอย่างในสนามซ้อม ระบบการฝึกจิตใจที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับนักกอล์ฟที่จริงจังทุกคน
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ การฝึกจิตใจสำหรับกีฬากอล์ฟนั้น จะแตกต่างจากทักษะและสมรรถภาพทางจิตในกีฬาอื่นๆ พอสมควร การฝึกจิตใจในกีฬากอล์ฟจะละเอียด ลึกซึ้ง และมีข้อจำกัดมากกว่าในกีฬาอื่นๆ นักกอล์ฟจึงจำเป็นต้องมีระบบการฝึกจิตใจมากกว่าและเฉพาะเจาะจงกว่านักกีฬาประเภทอื่นๆ นั่นเอง
Cr. ดร.พิชิต เมืองนาโพธิ์